เอชไอวี กับสิ่งที่คนไทยต้องทำความเข้าใจให้มากขึ้น
ยังมีคนไทยจำนวนมากมักเข้าใจว่าการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ก็เท่ากับว่าคน ๆ นั้นได้ติดโรคเอดส์ไปเรียบร้อยแล้ว หลายคนกลัว ไม่กล้าเข้าใกล้ จนทำให้ผู้ป่วยหรือคนที่มีเชื้อตัวนี้ในร่างกายถูกสังคมรังเกียจ ทว่าในความเป็นจริงหากลองทำความเข้าใจเกี่ยวกับ เอชไอวี ให้มากขึ้นจะรู้ว่าจริง ๆ แล้วเรื่องต่าง ๆ หรือข้อมูลที่เคยรู้มาอาจไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องทั้งหมด และไม่ว่าใครก็สามารถอยู่ร่วมกับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีในร่างกายได้
เอชไอวี กับ เอดส์ ไม่ใช่โรคเดียวกันทั้งหมด
เชื้อเอชไอวี (HIV) มาจากคำว่า Human Immunodeficiency Virus ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสประเภทหนึ่งที่สามารถเข้าสู่ร่างกายของคนเราได้ แต่สำหรับโรคเอดส์ (AIDS) มาจากคำว่า Acquired Immune Deficiency Syndrome อันหมายถึงผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องจากการโดนเชื้อไวรัสเอชไอวีเล่นงานภายในร่างกาย ส่งผลให้เมื่อมีเชื้อโรคต่าง ๆ พยายามเข้ามาสู่ร่างกาย ร่างกายของผู้ป่วยจะไม่สามารถต่อสู้หรือต้านทานใด ๆ ได้เลย จนท้ายที่สุดมักเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน
จากความหมายข้างต้นของทั้ง 2 สิ่งที่กล่าวมานี้จึงบอกได้ว่า โรคเอดส์ มีสาเหตุจากเชื้อเอชไอวีที่เข้ามาสู่ร่างกายบุคคล ๆ นั้น แต่ในทางกลับกันผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีภายในร่างกายก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องป่วยเป็นโรคเอดส์เสมอไป หากมีการดูแลร่างกายอย่างถูกต้อง เหมาะสม ปฏิบัติตามคำแนะนำแพทย์อย่างเคร่งครัด
เชื้อเอชไอวี ติดต่อกันได้อย่างไร
พื้นฐานความเข้าใจหลัก ๆ สำหรับการติดเชื้อเอชไอวีก็คือ การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลาย ๆ คนโดยไม่ป้องกันด้วยถุงยางอนามัย, การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน, ติดจากแม่สู่ลูกตอนมีครรภ์ เป็นต้น
ทว่าหากอธิบายอย่างเป็นทางการ เชื้อเอชไอวีสามารถติดต่อระหว่างบุคคลได้หากมีสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้อในร่างกายเข้าไปสู่ร่างกายของคนปกติ เช่น เลือด, อสุจิ, ของเหลวจากช่องคลอด แม้กระทั่งนมแม่ก็สามารถติดต่อเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้เช่นกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มีต้นเหตุมาจากการกระทำที่กล่าวเอาไว้ข้างต้นนั่นเอง แต่นอกเหนือจาก 3 ข้อนี้แล้วก็ยังมีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การใช้เข็มสัก, เข็มเจาะร่วมกัน, การได้รับเลือด เป็นต้น
ระยะของอาการเมื่อได้รับเชื้อเอชไอวี
- เมื่อเริ่มมีการติดเชื้อเอชไอวีในช่วง 2-4 สัปดาห์แรก จะถูกเรียกว่า ระยะฉับพลัน มักรู้สึกเป็นไข้ ไอ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต ผื่นขึ้นตามลำตัว ปวดเมื่อย
- ระยะต่อมาเป็นช่วงที่หากรู้และได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็จะช่วยให้มีอายุยืนยาว เรียกกันว่า ช่วงระยะสงบ ตอนนี้จะไม่มีการแสดงออกใด ๆ ทั้งสิ้น หากไม่มีการตรวจร่างกายเลยก็จะอยู่ในระยะนี้เป็น 10 ปี ซึ่งยังไม่ถูกเรียกว่า ผู้ป่วยเอดส์
- ระยะสุดท้าย นี่คือช่วงการติดเชื้อที่ถูกเรียกเป็น โรคเอดส์ อย่างชัดเจนเนื่องจากเชื้อมีการพัฒนาแบบเต็มขั้นสู่การเป็นเอดส์เรียบร้อย ภูมิคุ้มกันมีการบกพร่อง ไม่ต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย เกิดโรคแทรกซ้อนมากมาย จนในที่สุดมักเสียชีวิตจากโรคเหล่านั้นมากกว่าเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์
การกระทำที่ไม่เสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี
ยังมีคนที่เข้าใจผิดอยู่ไม่น้อยเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวีเมื่อรู้ว่าคนรอบข้างหรือต้องอยู่ใกล้กับผู้ที่ติดเชื้อจะมีความเป็นกังวลมาก จึงอยากอธิบายให้เข้าใจว่าการติดเชื้อเอชไอวีไม่ใช่ติดกันง่าย ๆ หากไม่ได้มีการกระทำที่เสี่ยง โดยหากคุณต้องทำสิ่งเหล่านี้ยืนยันว่าไม่มีทางติดได้แน่นอน
- ต้องใช้ภาชนะต่าง ๆ ร่วมกับผู้ติเชื้อไม่ว่าจะเป็นจาน, ช้อน, ส้อม, แก้ว, ขันน้ำ ฯลฯ เนื่องจากเชื้อเอชไอวีไม่สามารถติดต่อผ่านภายนอกหรือของเหลวในร่างกายจำพวกน้ำลาย, น้ำตา ได้
- หากมีผู้ติดเชื้อ ไอ, จาม, จูบ, หอม, ถ่มน้ำลาย ก็ไม่เสี่ยงเช่นกัน
- การนอนหลับบนเตียงเดียวกันกับผู้ป่วย
- การโดนยุงกัด
อาการเบื้องต้นของผู้ที่เริ่มติดเชื้อเอชไอวี
สำหรับคนที่ใช้ชีวิตเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี แต่ไม่กล้าไปตรวจเลือดหากเริ่มรู้สึกว่าตนเองมีอาการเหล่านี้ก็ถือว่ามีความเสี่ยงได้
- ถ่ายท้องแบบท้องเสียมาเป็นเวลานานมากกว่า 1 สัปดาห์
- มักมีไข้อยู่เป็นประจำทั้งที่สภาพแวดล้อมปกติ
- มีอาการปอดอักเสบ
- รู้สึกว่าตนเองมีความจำลดลง เสียความทรงจำในบางเรื่อง เริ่มรู้สึกมีอาการซึมเศร้า หรืออาการอื่น ๆ ในระบบประสาท
- เกิดแผลบริเวณอวัยวะเพศ, ทวารหนัก, ริมฝีปากแบบไม่มีสาเหตุ
- บริเวณผิวหนัง เปลือกตา จมูก ปาก มีผื่นขึ้นแบบไม่มีสาเหตุ
- ต่อมน้ำเหลืองบวมบริเวณขาหนีบ คอ รักแร้
- น้ำหนักลงเฉียบพลันทั้ง ๆ ที่ทานอาหารปกติ
- เหนื่อยง่ายกว่าปกติที่เคยเป็นมา
- มักมีเหงื่อออกในตอนกลางคืนแม้จะเปิดแอร์หรือพัดลมก็ตาม
อย่างไรก็ตามผู้ติดเชื้อบางรายอาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลยและใช้ชีวิตปกติได้เป็น 10 ปี จะรู้ว่าตนเองติดเชื้อก็ต่อเมื่อมีการตรวจเลือดเท่านั้น
การป่วยเพราะติดเชื้อเอชไอวีไมได้น่ากลัวและอันตรายอย่างที่คิด หากรู้สึกว่าตนเองมีภาวะเสี่ยงแนะนำให้พบแพทย์ตรวจเลือด ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง ๆ ก็อย่าเครียด กังวลใจ เพราะโรคนี้สามารถดูแลตนเองและใช้ชีวิตแบบคนปกติได้ เผลอ ๆ อาจมีชีวิตได้ยาวนานกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ