โรคซิฟิลิส กับคำถามที่น่ารู้
คำถามที่ควรต้องรู้เกี่ยวกับโรคซิฟิลิส
โรคซิฟิลิส ถูกออกมาเตือนให้ระมัดระวังจากแพทย์และสื่อต่าง ๆ ในช่วงระยะนี้ โดยที่ซิฟิลิสถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างหนึ่ง และเกิดการระบาดอย่างแพร่หลายมากขึ้น เพราะเป็นหนึ่งในโรคที่ติดต่อได้ง่าย ไม่แพ้ไปกว่าเชื้อไวรัสเอชไอวีเลยทีเดียว ยิ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงบ่อยครั้ง และไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันโรค วันนี้เรามาทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โรคซิฟิลิส นี้กันดีกว่า

ซิฟิลิสเป็นเชื้อประเภทไหน เข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร?
ตอบ ☛ ซิฟิลิส เป็นเชื้อแบคทีเรียประเภทหนึ่ง ที่เข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล บนผิวหนัง หรือเยื่อบุต่าง ๆ
มีอะไรกันแค่ภายนอก มีสิทธิติดซิฟิลิสไหม?
ตอบ ☛ หลายคนคิดว่าถ้าไม่มีการสอดใส่ ก็ไม่ติดโรคซิฟิลิส แต่หากมีกิจกรรมภายนอก เช่น การทำรักทางปาก (ออรัลเซ็กส์) หรือใช้ลิ้นเลียบริเวณอวัยวะเพศ แล้วไปสัมผัสกับเชื้อซิฟิลิสโดยตรง บริเวณช่องปาก ลิ้น ช่องคลอด ทวารหนัก ฯลฯ ก็สามารถติดเชื้อซิฟิลิสได้
ถ้าติดซิฟิลิสแล้วจะมีอาการอย่างไร?
ตอบ ☛ ไม่ใช่ทุกคนที่แสดงอาการของโรคซิฟิลิสทันที ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย ความแข็งแรงและโอกาสเสี่ยงที่มีบ่อยหรือไม่ เพราะเมื่อคนเราได้รับเชื้อไปแล้ว อาจอยู่ในระยะแฝงตัวได้นานหลายปี ทางที่ดีเมื่อรู้ว่าเสี่ยงให้รีบตรวจและรีบรักษา
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
ผื่นซิฟิลิส มีลักษณะอย่างไร?
ตอบ ☛ ก่อนจะเกิดผื่นซิฟิลิสขึ้น จะต้องมีแผลริมแข็งเสียก่อน แผลชนิดนี้จะมีขอบนูน แข็ง กดแล้วไม่เจ็บ ไม่ปวดอะไร ส่วนใหญ่จะพบได้มากที่อวัยวะเพศทั้งผู้ชายและผู้หญิง หรือริมฝีปาก อาจสังเกตได้จากหลังวันที่มีความเสี่ยงที่ไม่ได้ป้องกันตั้งแต่สัปดาห์กว่าๆ ขึ้นไปจนถึงประมาณ 3 เดือน และแผลริมแข็งนี้ก็สามารถหายได้เองแม้ไม่ได้รักษาด้วย หลังจากนั้นประมาณเดือนครึ่งถึงสอง เดือนอาจมีผื่นขึ้นตามลำตัว มือ เท้า หรือตามร่างกายต่างๆ ร่วมกับมีอาการปวดหัว ตัวร้อน มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน ปวดเนื้อเมื่อยตัว แต่อาการเหล่านี้ก็สามารถหายไปได้เองภายในระยะเวลา 1-3 เดือน
ติดซิฟิลิสแล้ว ถ้ารักษาจะหายขาดไหม กลับมาเป็นซ้ำได้หรือเปล่า?
ตอบ ☛ หากรู้ตัวว่ามีความเสี่ยงโรคซิฟิลิส และตรวจเจอตั้งแต่แรก มีโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้ แต่หากอยู่ระยะที่เชื้อแฝงตัวนานแล้วก็ต้องให้แพทย์วินิจฉัยและรักษาไปตามระยะของโรคอาจใช้เวลานานกว่าเคสทั่วไป ทั้งนี้ผู้ที่ติดเชื้อซิฟิลิสจะต้องทานยาอย่างเคร่งครัดและไปตามนัดหมอทุกครั้ง เพราะถึงแม้จะหายจากโรคซิฟิลิสแล้ว แต่ยังแนะนำให้ตรวจซ้ำทุกๆ 3 เดือนภายในระยะเวลา 3-5 ปีหลังจากทำการรักษา เพราะอาจจะมีเชื้อแฝงตัวเหลือรอดอยู่ หรือไม่เสี่ยงเพิ่ม
โดยการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน หรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย

เป็นซิฟิลิสแล้ว ทำให้เป็นโรคเอดส์ใช่หรือไม่?
ตอบ ☛ ซิฟิลิสกับเชื้อไวรัสเอชไอวี เป็นคนละโรคกัน แต่หากคุณเป็นโรคซิฟิลิสอยู่แล้วก็เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีได้มากกว่าคนปกติถึง 5 เท่า และคนที่ติดเชื้อเอชไอวีหากดูแลตัวเองได้ดี รับประทานยาต้านไวรัสอย่างเคร่งครัด ป้องกันตนเองก็ไม่สามารถติดโรคซิฟิลิสได้
ใครบ้างที่ควรตรวจโรคซิฟิลิส?
ตอบ ☛ กลุ่มเสี่ยงในคนที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ไม่ใส่ถุงยางอนามัย ไม่ได้ป้องกันตัวเอง กลุ่มคนที่คิดว่าคู่นอนของตัวเองมีความเสี่ยงต่อโรคซิฟิลิส กลุ่มคุณพ่อคุณแม่ที่วางแผนจะมีบุตร
ทำอย่างไรถึงจะไม่ติดเชื้อซิฟิลิส?
ตอบ ☛ ป้องกันตนเองด้วยการใช้ถุงยางอนามัยให้ทุกกิจกรรมทางเพศ หัดสังเกตุคู่นอนของตนเองหรือมีเพศสัมพันธ์กับแฟนของตัวเองที่มั่นใจว่าปลอดเชื้อ ไม่ใช้บริการทางเพศหรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย