เคลียร์ให้ชัด เอชไอวี (HIV) คืออะไร?
ผู้ที่ได้รับเชื้อ HIV ประมาณ 14-28 วัน จะมีอาการคล้ายกับอาการไข้หวัดใหญ่ทั่วไป หรือคล้ายกับอาการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ เป็น เชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus หรือ HIV) คือ เชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานบกพร่อง ทำให้ร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีเสี่ยงต่อการติดเชื้อและป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่ายมากกว่าคนปกติ ซึ่งเชื้อเอชไอวี (HIV) ในปัจจุบันถูกค้นพบมากกว่า 10 สายพันธุ์กระจายอยู่ทั่วโลก โดยสายพันธ์ุดั้งเดิม แบ่งตามลักษณะทางพันธุกรรมออกเป็น 2 ชนิด คือ
-
HIV-1 : พบมากในประเทศแถบ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และแอฟริกากลาง
-
HIV-2 : พบมากในประเทศอินเดีย และแอฟริกาตะวันตก
เชื้อเอชไอวี (HIV) จะมี p24 antigen หรือสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี ที่เป็นตัวกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันต้านทาน หรือ แอนติบอดี (Antibody) ต่อไวรัสนี้ และส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย หากร่างกายได้รับเชื้อเอชไอวีแล้วจะไม่สามารถกำจัดเชื้อเอชไอวีออกไปได้ ซึ่งเชื้อเอชไอวีจะคงอยู่ตลอดไป

ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
อาการของผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
ผู้ที่ได้รับเชื้อเอชไอวี ประมาณ 14-28 วัน จะมีอาการคล้ายกับอาการไข้หวัดใหญ่ทั่วไป หรือคล้ายกับอาการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี และอาการเหล่านี้จะหายไปเองภายในไม่กี่สัปดาห์ และจะไม่แสดงอาการอีกในระยะเวลาหลายปี เป็นช่วงที่ผู้ติดเชื้อ สามารถแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นได้ง่าย
รู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
อาการที่บ่งบอกได้ว่าผู้ป่วยอาจมีภาวะติดเชื้อเอชไอวี มีดังนี้
-
มีไข้ หนาวสั่น
-
อาการไอเรื้อรัง
-
กล้ามเนื้ออ่อนแรง
-
ปวดเมื่อย เมื่อยล้าตามตัว
-
ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ
-
คลื่นไส้อาเจียน
-
ผิวหนังเป็นผื่น ผิวหนังอักเสบ รอยฟกช้ำเป็นจุด
-
ต่อมน้ำเหลืองบวม
-
น้ำหนักลด ท้องเสียเรื้อรัง
-
เหงื่อออกมากผิดปกติ
หากพบว่ามีอาการดังกล่าวไม่ควรปล่อยปละละเลย ให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจเลือดเพื่อความแน่นอน และหากผลการตรวจพบว่ามีเชื้อไวรัสเอชไอวี จะได้ทำการรักษาและป้องกันการกระจายเชื้อสู่ผู้อื่นได้อย่างทันท่วงที
เอชไอวี (HIV) มีกี่ระยะ?
อาการของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ปรากฎขึ้น เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อเอชไอวีแล้ว จะแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ
-
ระยะติดเชื้อปฐมภูมิ : ผู้ป่วยในระยะนี้จะแสดงอาการผิดปกติน้อย และอาการต่าง ๆ สามารถหายเองได้ในเวลา 14-28 วัน ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการที่คล้ายคลึงกับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ถ่ายอุจจาระเหลว และต่อมน้ำเหลืองโต เป็นระยะที่วินิจฉัยได้ค่อนข้างยาก จึงต้องใช้วิธีการตรวจเลือดเพื่อความชัดเจนมากที่สุด
-
ระยะติดเชื้อเรื้อรัง : เป็นระยะมีการติดเชื้อฉวยโอกาสอย่างรุนแรง ผู้ป่วยในระยะนี้จะแสดงอาการที่ชัดเจนมากขึ้นแต่อาการมักจะไม่มีความรุนแรง เช่น วัณโรค ปอดกำเริบ มีเชื้อราขึ้นที่ลิ้น โรคงูสวัด โรคเริม เป็นต้น โดยที่เชื้อไวรัสเอชไอวี จะแทรกตัวในต่อมน้ำเหลืองและม้าม ซึ่งจะทำระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยในระยะนี้จะไม่มีอาการผิดปกติที่เด่นชัด
-
ระยะโรคเอดส์ : เป็นระยะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกทำลายเสียหายอย่างหนัก ทำให้ร่างกายติดเชื้อและเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต เนื่องจากอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ผู้ป่วยในระยะนี้จะแสดงอาการที่รุนแรงอย่างชัดเจน เช่น อ่อนเพลียมาก น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ท้องร่วงเรื้อรัง มีไข้เรื้อรัง วัณโรคที่ปอด มะเร็งชนิดต่าง ๆ เยื้อหุ้มสมองอักเสบ โรคมะเร็งคาโปซิซาร์โคมา โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น
ประเด็นสำคัญ!
ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ไม่เรียกว่าผู้ป่วยเป็น “โรคเอดส์”
โรคเอดส์ คือ ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีในระยะที่ 3 เท่านั้น
ดังนั้นผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ไม่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเอดส์ หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม
เอชไอวี (HIV) ติดต่อทางไหนบ้าง?
-
การร่วมเพศกับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี โดยไม่สวมใส่ถุงยางอนามัย
-
การสัมผัสเลือดและสารคัดหลั่งต่าง ๆ ของติดเชื้อเอชไอวี เช่น น้ำลาย น้ำอสุจิ เสมหะ น้ำหล่อลื่นในช่องคลอด น้ำนมแม่ เป็นต้น
-
ติดเชื้อผ่านบาดแผลเปิด แผลเริม และแผลติดเชื้อ
-
การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การใช้เข็มเจาะหู และการสักลงบนผิวหนัง
-
การติดต่อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก (Vertical Transmission)
วิธีการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
การป้องกันการติดเชื้อ HIV สามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยการตระหนักและปฏิบัติตามวิธีต่าง ๆ ดังนี้
-
สวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น
-
หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ใช่คู่สมรส หรือคนที่ไม่รู้จัก
-
ไม่ใช้เข็มฉีดยาเสพติดชนิดเข้าเส้นร่วมกับคนอื่น
-
หากต้องการสักตามผิวหนัง หรือเจาะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ต้องมั่นใจว่าสถานบริการนั้น ๆ ปลอดภัยไว้ใจได้
-
ตระหนักไว้เสมอว่า ไม่ว่าใครก็มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีได้ทั้งสิ้น จึงไม่ควรไว้วางใจคนที่เป็นคู่นอน และป้องกันตัวเองอย่างรอบคอบ
-
ตรวจเลือดก่อนการแต่งงาน เพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายของทั้งคู่ไม่มีการติดเชื้อ หรือเป็นโรคอื่น ๆ ที่สามารถแพร่สู่คู่สมรสได้
-
รับการตรวจเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
-
การใช้ยาต้านเชื้อเอชไอวี (Pre-Exposure Prophylaxis) ที่ช่วยป้องกัน ยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อ และช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV จากการมีเพศสัมพันธ์ได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์
-
อย่าลืมตรวจ HIV กันเป็นประจำนะครับ